ภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลอย่างมากต่อการดำเนินงานขององค์กรและหน่วยงานต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเตรียมการขององค์กรเพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเข้ามามีความสำคัญอย่างมากที่จะต้องปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที เพื่อลดความเสียหายหรือผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการดำเนินงานขององค์กร
บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำในระดับโลกอย่าง Mckinsey, KPMG, PwC ได้ประเมินสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นไว้หลายแนวทาง ทั้งในรูปแบบที่ไม่รุนแรงมาก หรือในกรณีที่สถานการณ์รุนแรงอาจจะส่งผลกระทบไปถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2021 เลยทีเดียว นอกจากนั้นบริษัทที่ปรึกษาเหล่านั้นยังได้ให้ข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานของภาคธุรกิจเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งสามารถสรุปองค์ประกอบที่สำคัญที่องค์กรควรจะต้องเตรียมพร้อมรับมือได้ดังนี้

1.ให้ความสำคัญกับบุคลากร
เนื่องจากบุคลากรเป็นทรัพยากรที่สำคัญขององค์กร ดังนั้นความปลอดภัยและความมั่นคงของบุคลากรจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญประการหนึ่งที่องค์กรควรให้ความสำคัญอย่างมาก แนวทางที่องค์กรควรบริหารจัดการเกี่ยวกับบุคลากรประกอบไปด้วยเรื่องสำคัญ ดังนี้
– สื่อสารกับบุคลากรทุกระดับอย่างทั่วถึง อย่างชัดเจน และสม่ำเสมอ
– ให้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน กำหนดและให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ถูกต้องแก่บุคลากรเพื่อความปลอดภัยทั้งในที่ทำงานและที่บ้าน
– สำรวจบุคลากรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ
– กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและรองรับในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นในองค์กร
– ออกแบบระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น และจัดให้มีเครื่องมืออุปกรณ์ในการสนับสนุนการทำงานของบุคลากร
– ทบทวนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับค่าตอบแทนและสวัสดิการของบุคลากรโดยพิจารณาถึงความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของบุคลากร
– ติดตามความเปลี่ยนแปลงในด้านกฎหมาย กฎระเบียบจากหน่วยงานภาครัฐที่ส่งผลต่อบุคลากร

2.จัดการกับ Supply Chain
การรักษาความต่อเนื่องของการดำเนินงานและกระบวนการที่เกี่ยวข้องใน Supply Chain เป็นเรื่องที่องค์กรต้องให้ความสำคัญ เพราะหากกระบวนการไม่สามารถเดินไปได้ หรือไปได้แบบไม่ต่อเนื่อง ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งที่จะตามมาเช่น ด้านการเงิน บุคลากร ความเชื่อมั่นของลูกค้า ฯลฯ ซึ่งองค์ประกอบที่สำคัญที่องค์กรควรพิจารณาในช่วงวิกฤติมีประเด็นที่สำคัญ ดังนี้
– การประเมินความเสี่ยงในทุกๆขั้นตอนของ Supply Chain โดยประเมินกระบวนการที่มีความเสี่ยงและผลกระทบต่อธุรกิจจากปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น และระบุกระบวนการที่สำคัญที่ส่งผลต่อกำไรและขาดทุนขององค์กรและความสามารถในการปรับตัวของกระบวนการดังกล่าว
– สื่อสารอย่างใกล้ชิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องที่สำคัญใน Supply Chain เพื่อสร้างความสัมพันธ์ และสร้างความมั่นใจร่วมกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำให้กระบวนการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
– สร้างความสัมพันธ์กับผู้ผลิต (Supplier engagement) เพื่อพิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบของ Supplier ทำให้มั่นใจว่าสามารถส่งมอบวัตถุดิบได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพิจารณาเมินกลยุทธ์สำหรับทางเลือกของวัตถุดิบทบแทน รวมถึงคุณภาพ และต้นทุนที่อาจจะเกิดขึ้น
– การจัดการสินค้าคงคลัง (Inventory management) โดยประมาณการสินค้าคงคลังทั้งกระบวนการ Value chain ว่าจะสามารถดำเนินการผลิตและส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้ตามความต้องการหรือไม่
– จัดการกระบวนการผลิตและการดำเนินงาน (Production and operations) โดยประเมินผลกระทบของกระบวนการผลิตจากทรัพยากรที่มีอยู่ และวางแผนการผลิตให้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่ามากที่สุด
– บริหารจัดการกระบวนการ Logistics ที่เกี่ยวข้อง โดยประเมินขีดความสามารถทางด้าน Logistics ปัญหาที่เกิดขึ้นจากช่องทางปัจจุบัน พิจารณาปรับเปลี่ยนกระบวนการขนส่ง ปรับเส้นทาง หรือบริหารความเสี่ยงเช่นการจองล่วงหน้า หรือหาแนวทางในการสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่นเพื่อบริหารจัดการกระบวนการ Logistics ให้คุ้มค่า
– พิจารณาถึงช่องทางการขายในรูปแบบอื่นๆ เช่น Online

3.สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า
การให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่องค์กรควรให้ความสำคัญ เพราะหากไม่มีลูกค้าธุรกิจย่อมไม่สามารถเดินต่อไปได้ ดังนั้นการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าเพื่อให้เกิดความผูกพันระหว่างกัน (Customer Engagement) จึงเป็นองค์ประกอบที่ควรสำคัญ ซึ่งมีประเด็นที่ควรพิจารณาที่สำคัญ ดังนี้
– ประเมินความต้องการสินค้าของลูกค้าแต่ละราย รวมถึงความเสี่ยงของลูกค้าที่อาจจะเกิดขึ้น
– สื่อสารอย่างใกล้ชิดกับลูกค้าเพื่อสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นของลูกค้า
– กำหนดนโยบายในการรองรับความเสี่ยงของลูกค้า เช่น การยกเลิกสินค้า การคืนสินค้า หรือการให้เครดิตแก่ลูกค้าแต่ละราย

4.ประเมินความสามารถทางด้านการเงินขององค์กร
ในช่วงภาวะวิกฤติปัจจัยอีกประการหนึ่งที่องค์กรควรให้ความสำคัญคือการพิจารณาปัจจัยทางด้านการเงินเพื่อทำให้มั่นใจว่าองค์กรจะสามารถก้าวต่อไปได้ ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณา ดังนี้
– ประเมินศักยภาพทางการเงิน และเงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจ
– ทบทวนประมาณการณ์รายได้และค่าใช้จ่ายจากสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น และจัดทำประมาณการงบการเงินในแนวทางต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น
แน่นอนว่าจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อทุกๆฝ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงย่อมมีโอกาสใหม่ๆเกิดขึ้นเสมอ ดังนั้นสิ่งที่องค์กรควรให้ความสำคัญนอกจากการป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤติที่เกิดขึ้นแล้ว องค์กรควรมองหาโอกาสใหม่ๆทางธุรกิจที่เกิดขึ้นและเกาะกุมสิ่งเหล่านั้นให้ได้เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรต่อไป
นารถ จันทวงศ์
23 มีนาคม 2563
References
– COVID-19: Implications for business, https://www.mckinsey.com/business-functions/risk/our-insights/covid-19-implications-for-business?cid=other-eml-alt-mip-mck&hlkid=86822ebde68c46a1891e95575c27b77d&hctky=11749011&hdpid=1a047fce-7247-4dc6-89df-0263867c0ce7
– The business implications of coronavirus,https://home.kpmg/xx/en/home/insights/2020/03/the-business-implications-of-coronavirus.html
– Considering the potential business impacts of the COVID-19 outbreak, PWC.com
– COVID-19: ISSUES FOR BUSINESSES, King & Wood Mallesons