ManagementinAction
เมื่อระบบประเมินผลในรูปแบบเดิมๆ ถูกตั้งประเด็นขึ้นอย่างแพร่หลายว่าเป็นระบบที่ไม่เกิดประโยชน์กับองค์กร (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในตอนที่ 1) คำถามคือแล้วองค์กรยังจำเป็นต้องมีระบบประเมินผลอยู่หรือไม่? หรือควรเป็นไปในรูปแบบใด ในมุมมองของผู้เขียนมีความคิดเห็นว่าระบบประเมินผลการปฏิบัติงานยังคงมีความสำคัญกับหลายๆ องค์กรอยู่ แต่คงจะไม่ได้อยู่ในรูปแบบเดิมๆ อีกต่อไป การประเมินผลเพียงเพื่อให้คะแนน จ่ายผลตอบแทน หรือเลื่อนตำแหน่งเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับรูปแบบของความเปลี่ยนแปลงที่องค์กรต้องเผชิญ และไม่ใช่สิ่งสำคัญที่จะทำให้องค์กรและบุคลากรเกิดการพัฒนาได้ แล้วองค์กรควรจะพัฒนาระบบประเมินผลการปฏิบัติงานไปในทิศทางใด?
จากการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำในระดับโลกและองค์กรต่างๆ พบว่ารูปแบบการประเมินผลในอนาคต จะไม่ได้อยู่ในรูปแบบเดิมที่เน้นที่การประเมินผล (Performance Appraisal) อีกต่อไป แต่จะเปลี่ยนเป็นการมุ่งเน้นที่วัตถุประสงค์หลักในการพัฒนาองค์กรและบุคลากรในรูปแบบของการบริหารผลการปฏิบัติงาน (Performance Management) และการพัฒนาผลการปฏิบัติงาน (Performance Development) โดยให้ความสำคัญกับการประเมินเพื่อนำไปสู่การพัฒนาองค์กรและบุคลากร การทำให้เป้าหมายของบุคลากรมีความชัดเจนและเชื่อมโยงกับเป้าหมายขององค์กร ทำให้กระบวนการเกิดความต่อเนื่องและสม่ำเสมอ รวมถึงนำเทคโนโลยีและข้อมูล (Technology & Data Analytics) เข้ามาช่วยในการตัดสินใจมากขึ้น ซึ่งอาจจะสรุปแนวคิดเกี่ยวกับการบริหารผลการปฏิบัติงาน (Performance Management) ที่สำคัญได้ดังนี้
การบริหารผลการปฏิบัติงานในอนาคต จะมุ่งเน้นการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในทุกๆ ระดับ และเป็นเป้าหมายที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับเป้าหมายหลักขององค์กร บุคลากรในแต่ละส่วนขององค์กรจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนและวัดผลได้ (อาจใช้เครื่องมือ OKRs หรือ Balanced Scorecard เข้ามาช่วย) รวมถึงทราบว่าบทบาทหรือความสำเร็จของตนเองมีส่วนในการขับเคลื่อนผลักดันความสำเร็จขององค์กรอย่างไร
อีกรูปแบบหนึ่งที่องค์กรต่างๆ เริ่มให้ความสำคัญคือการปรับเปลี่ยนรูปแบบของการบริหารผลการปฏิบัติงาน คือการทำให้การบริหารผลการปฏิบัติงานเป็นรูปแบบที่มีความต่อเนื่องตลอดทั้งปี (Continuous Performance Management) ผู้บังคับบัญชาจะมีบทบาทสำคัญในการติดตาม (Check in) ให้คำปรึกษา (Feedback) แนะนำ (Coaching) แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ แทนที่จะเป็นรูปแบบเดิมที่มีการกำหนดตัวชี้วัดกันในช่วงต้นปีและมาทบทวนผลการปฏิบัติงานกันในช่วงปลายปีเท่านั้น
ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการให้ความสำคัญกับการพัฒนา (Human Development) โดยผู้บังคับบัญชาจะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากผู้ประเมินเป็นผู้ที่ต้องให้คำแนะนำและข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาในการพัฒนาทั้งในด้านการพัฒนาผลการปฏิบัติงาน การฝึกอบรมและการพัฒนาในด้านต่างๆ มากขึ้น รวมถึงหาแนวทางที่จะสร้างแรงจูงใจและความผูกพันให้เกิดขึ้นกับบุคลากรภายในองค์กร
ประการสุดท้าย องค์กรจะมีการนำเทคโนโลยีและการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เพื่อมาสนับสนุนการบริหารและการตัดสินใจอย่างรวดเร็วมากขึ้น เช่นสามารถรวบรวม (Collect) วิเคราะห์ (Analyze) และนำเสนอข้อมูล (Visualization) ที่เป็นประโยชน์ได้แบบเป็นปัจจุบัน (real-time insights) หรือรวดเร็วที่สุด แทนการที่จะรอการสรุปผลการดำเนินงานในแต่ละปีหรือแต่ละไตรมาสตามรูปแบบปกติ
เมื่อพอเห็นภาพแล้วว่ารูปแบบการบริหารผลการปฏิบัติงานที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นไปในรูปแบบใด คำถามถัดมาที่สำคัญคือ แล้วผู้ที่เกี่ยวข้องควรจะต้องเตรียมพร้อมในการปรับตัวอย่างไรให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะพบว่ากลุ่มสำคัญที่ควรจะต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงคือกลุ่มผู้บริหารและผู้บังคับบัญชา ซึ่งจากบทบาทของผู้บริหารและผู้บังคับบัญชาที่เปลี่ยนแปลงไป บทบาทที่ต้องทำหน้าที่ในการสื่อสารเป้าหมายขององค์กร เชื่อมโยงเป้าหมายขององค์กรกับบุคลากรในบังคับบัญชา กำกับติดตามให้คำปรึกษาแนะนำและเป็นพี่เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนา ซึ่งทักษะที่สำคัญที่จะต้องให้ความสำคัญ ได้แก่
นอกจากกลุ่มผู้บริหารและผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นกลุ่มที่สำคัญที่จะต้องปรับตัวให้รองรับกับรูปแบบใหม่แล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นภายในองค์กรทั้งในส่วนของตัวบุคลากรเอง ฝ่าย HR หรือแม้แต่ฝ่าย IT ก็เป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนให้ระบบการบริหารผลการปฏิบัติงานนำไปสู่เป้าหมายหลักในการพัฒนาองค์กรและบุคลากรต่อไป
นารถ จันทวงศ์
1 กุมภาพันธ์ 2563
References