ManagementinAction
ในปัจจุบัน คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะเป็นการเปิด Google map ผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่อเช็กเส้นทางที่ดีที่สุดก่อนเดินทาง หรือจะดูภาพยนตร์ที่ชื่นชอบผ่าน Streaming channels แทนที่จะต้องรอเวลาออกอากาศจากสถานีโทรทัศน์
ซึ่งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนี้ มีผลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนที่เปลี่ยนแปลงไป และมีผลต่อการดำเนินงานของทุกธุรกิจที่ต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวพันโดยตรงกับการใช้ชีวิตประจำวัน ย่อมมีผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
และนอกเหนือจากความเปลี่ยนแปลงในเรื่องเทคโนโลยีแล้ว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังต้องเผชิญกับความปกติในรูปแบบใหม่ (The new normal) ที่ก่อให้เกิดความท้าทายที่ส่งผลกับการทำงาน รวมถึงผลประกอบการอีกหลายต่อหลายด้านดังนี้
จากทุกความท้าทายข้างต้น ทำให้การทำโครงการอสังหาริมทรัพย์ไม่อาจเป็นแบบเดิมได้อีกต่อไป สิ่งที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเพื่อรับมือกับ The new normal ที่เกิดขึ้น คือการวิเคราะห์ข้อมูลแบบสมัยใหม่ หรือที่เรียกว่า Big Data Analytics ที่ใช้ข้อมูลจาก Digital footprint ที่ผู้บริโภคสร้างไว้จากการใช้งานผ่านช่องทางDigital ต่างๆ ทั้ง โทรศัพท์เคลื่อนที่, website และ application ซึ่งจะเป็นการวิเคราะห์จากพฤติกรรมจริงๆ ของผู้บริโภคที่แสดงออกมา แตกต่างจากการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเดิม ที่ใช้ข้อมูลจากการสอบถามลูกค้า จนไม่อาจมั่นใจในความถูกต้องของข้อมูลได้
Big Data Analytics เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านวางแผนการพัฒนาโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แล้วการวิเคราะห์ควรมุ่งเน้น 2 ส่วน คือ
1. Location Analytics
เมื่อทำเลเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สิ่งที่ผู้พัฒนาโครงการต้องรู้เพื่อให้ได้ข้อมูลในการหาที่ดินที่มีศักยภาพในการสร้างโครงการ คือ ความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่ (density) และการเคลื่อนที่ (mobility) ของประชากรในแต่ละช่วงวันและเวลา ซึ่งโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เราทุกคนใช้อยู่แทบจะตลอดเวลานี้ จะสามารถให้ข้อมูลนี้ได้จาก Location ของโทรศัพท์ซึ่งอยู่กับตัวเรานั่นเอง ทั้งการรู้ Location จากตำแหน่งเสาสัญญานที่ใช้ หรือจาก Application Facebook, Google ที่มีอยู่ในโทรศัพท์แทบทุกเครื่อง ตัวอย่างคือ หากใครใช้เวลาอยู่ในพื้นที่เดียวกันๆในช่วง 22:00 – 05:00 เป็นประจำ พื้นที่นั้นก็มีแนวโน้มที่จะเป็นบ้านของคนๆนั้นอาศัยอยู่ และหากอยู่ในพื้นที่ใดในช่วงเวลา 09:00 – 18:00 ในวันจันทร์ถึงศุกร์ พื้นที่นั้นก็มีแนวโน้มที่จะเป็นสถานที่ทำงาน ซึ่งจะนำไปสู่การวิเคราะห์ได้อีกว่าประชากรที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ เป็นผู้อยู่อาศัย(home) มาทำงาน (work) หรือแค่ผ่านมา (visit)
เมื่อทราบข้อมูลเหล่านี้ นั่นหมายความว่าเราสามารถทราบถึงเส้นทาง และเวลาที่ใช้ในการเดินทางจากบ้านไปที่ทำงาน เส้นทางอื่นๆ ที่ใช้ประจำ รวมถึงสถานที่ที่ไปแฮงเอาท์ หรือช้อปปิ้งบ่อยๆ โดยทั่วไปมนุษย์เราจะเลือกที่อยู่อาศัย หรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ลงทุนในทำเลที่ตนเองมีความรู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี หรือต้องเดินทางไปเป็นประจำ ดังนั้น ผู้พัฒนาโครงการสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ได้ว่า ที่ดินใดเป็นที่ดินที่มีศักยภาพเหมาะกับการนำไปพัฒนาโครงการได้
และนอกจากนี้ Location ยังบอก Lifestyle ความชอบ ความสนใจและข้อมูลอื่นๆ ที่บอกถึงความเป็นตัวตนของคนๆนั้นได้อีกด้วย เช่น คนที่มีการเดินทางไปที่โรงเรียนอนุบาลในวันทำการเช้าและเย็น อาจหมายถึงเป็นคนที่มีลูกเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมที่บริษัทผู้พัฒนาโครงการจะนำเสนอบ้านที่มีพื้นที่ใช้สอยเหมาะกับครอบครัว หรือคนที่วันหยุดสุดสัปดาห์เดินทางไปต่างจังหวัดบ่อยๆ เป็นคนชอบท่องเที่ยว เหมาะกับการขายบ้านพักตากอากาศ เป็นต้น เมื่อบริษัทผู้พัฒนาโครงการได้ทราบข้อมูล Location Analytics ทั้งหมดนี้แล้ว การเลือกที่ดินที่เหมาะสมกับการสร้างโครงการ การออกแบบโครงการให้เหมาะกับลูกค้าเป้าหมายคงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
2. Customer Analytics
โจทย์ที่ยากอีกข้อหนึ่งของผู้พัฒนาโครงการคือการทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้าเพื่อนำไปออกแบบกลยุทธ์ทางการตลาดให้เหมาะสม ซึ่งข้อมูลDigitalที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์นั้น มาจากข้อมูลในการเข้าเว็บไซต์เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ทั้งเว็บไซต์ของผู้ประกอบการ และเว็บไซต์รีวิวโครงการต่างๆ ผ่านทาง Brower หรือการ google เช่น Thinkofliving หรือ Propholic รวมไปถึงความสนใจในการเข้าแอปพลิเคชัน ประเภทอื่นๆ เช่น Starva หรือ Garmin connect ที่ทำให้ทราบว่าเป็นคนที่สนใจในการออกกำลังกาย
ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในการหาความต้องการของลูกค้า นอกจากจะต้องหาได้ถูกคนแล้ว ยังต้องนำเสนอได้ถูกเวลาอีกด้วย ซึ่งถ้าเป็นการทำการตลาดแบบเดิม จะใช้วิธีวิจัยทางการตลาด ประกอบกับการใช้ Mass media เพื่อส่งถึงกลุ่มคนขนาดใหญ่ ซึ่งจะส่งได้มากแค่ไหนขึ้นอยู่กับงบประมาณทางด้านการตลาดที่มีอยู่ การทำการตลาดแบบเดิมนี้ไม่สามารถวัดผลได้ว่า สื่อที่เราส่งไปตรงกับกลุ่มเป้าหมายจริงหรือไม่ และส่งไปได้ถูกเวลาหรือเปล่า ทำให้ไม่สามารถวางแผนกลยุทธ์การตลาดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดได้ ข้อจำกัดต่างๆ จากการการตลาดแบบเดิมนี้ สามารถแก้ได้ด้วยการใช้ Big Data Analytics
ถึงแม้ปัจจุบันธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะเป็นธุรกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีไม่มากนัก แต่จากความเปลี่ยนแปลงที่มีผลให้เกิดความปกติในรูปแบบใหม่ (The new normal) ก็ทำให้แนวโน้มความต้องการของที่อยู่อาศัยเติบโตได้ยาก เมื่อมีการชะลอตัวของเศรษฐกิจเกิดขึ้น การแย่งชิง demand ที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้จึงเป็นไปอย่างดุเดือด Big Data Analytics จึงเป็นเครื่องมือที่เหมาะสม ที่บริษัทผู้พัฒนาโครงการจะนำไปใช้ในการพัฒนากลยุทธ์ทุกๆ ด้าน เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และเป็นผู้นำในธุรกิจนี้ต่อไป
นิรมล ดิเรกมหามงคล
25 มกราคม 2563